ทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการประหยัดภาษี
สร้างเงินออม...พร้อมคุ้มครองชีวิต
ปัจจุบันผู้มีรายได้สามารถนำ
เบี้ยประกันชีวิต ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง
300,000 บาทต่อปี
ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการวางแผนภาษีและเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการประหยัดภาษี
สร้างเงินออม พร้อมคุ้มครองชีวิต
โดยประเภทของเบี้ยประกันชีวิตที่สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ก็มี 2
ประเภท ได้แก่ เบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
ซึ่งมีข้อกำหนดเบื้องต้น ดังนี้

1. เบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป)
ค่าเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้
หากคู่สมรสมีการประกันชีวิต และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี
ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน
สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน
10,000 บาท
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้
หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดตั้งแต่
10 ปีขึ้นไป ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ประกันลดหย่อนภาษี2. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี
แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ทั้งนี้
ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
และจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55
ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้น
และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กรณีไม่มีเบี้ยประกันชีวิตตามข้อ
1 สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนแทนเบี้ยประกันชีวิตตามข้อ
1 ก่อนได้ ซี่งจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีรวมสูงสุด 300,000 บาท
นอกจากนี้ยังสามารถลดหย่อนภาษีสำหรับลูกกตัญญู
คือ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส
หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้
บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน
30,000 บาท
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
บุคคลธรรมดามีหน้าที่ต้องยื่นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ในทุกปี
ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี โดยบุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิน 120,000
บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โดยจะคำนวณจากเงินได้สุทธิประจำปี ซึ่งเกิดจากเงินได้ทั้งปี หักค่าใช้จ่าย
และหักค่าลดหย่อน
วิธีการคำนวณภาษี
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา = [(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] x อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีแต่ถ้าเกินกว่านั้นก็จะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได